ตานโมย ๑

Apostasia nuda R. Br.

ชื่ออื่น ๆ
ตานขโมย (นครศรีธรรมราช)
กล้วยไม้ดินหลายปี ลำต้นตั้งตรง รูปทรงกระบอก เรียวยาวและแข็ง รากสีน้ำตาลแดง เป็นเส้นยาว เหนียวและแข็ง ใบเดี่ยว มีจำนวนมาก ออกตลอดต้น เรียงเวียนถี่ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนงออกที่ปลายยอด ดอกสีเหลืองหรือสีขาวแกมสีเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมักม้วนงอลงด้านล่าง กลีบดอก ๓ กลีบ มีลักษณะเหมือนกัน ไม่แยกเป็นกลีบปาก ๑ กลีบเหมือนกล้วยไม้ทั่วไป ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน อับเรณูติดที่ฐาน ผลแบบผลแห้งแตก สีเขียวเข้มเป็นมัน รูปทรงกระบอก เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก

ตานโมยชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดินหลายปี ลำต้นตั้งตรง สีเขียวเข้มหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาล รูปทรงกระบอก เรียวยาวและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ผิวเรียบ มีกาบใบหุ้มตลอดลำต้นรากสีน้ำตาลแดง เป็นเส้นยาว เหนียวและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ยาว ๗-๑๓ ซม.

 ใบเดี่ยว มีจำนวนมาก ออกตลอดต้น เรียงเวียนถี่ รูปแถบ กว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๑๑-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนงออกที่ปลายยอด ตั้งขึ้น เอียง หรือห้อยลง มี ๑-๓ ช่อ ทั้งช่อยาว ๕-๙ ซม. แต่ละช่อมี ๑๐-๒๕ ดอก ก้านช่อสีเขียวเข้มเป็นมัน ยาว ๒-๔ ซม. แกนช่อสีเขียว ยาว ๓-๕ ซม. ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกัน ๐.๗-๑ ซม. ใบประดับสีเขียวอ่อน รูปใบหอกแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม ปลายเรียวแหลม ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายเรียวแหลม ดอกสีเหลืองหรือสีขาวแกมสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมักม้วนงอลงด้านล่าง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงข้างรูปรี กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม



กลีบดอก ๓ กลีบ มีลักษณะเหมือนกัน ไม่แยกเป็นกลีบปาก ๑ กลีบเหมือนกล้วยไม้ทั่วไป รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม ขอบเรียบ แผ่นกลีบหนาและเหนียวกว่ากลีบเลี้ยง ด้านนอกของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสันนูนตามยาว ๑ สัน ปลายสันเป็นรยางค์แข็งยาวพ้นปลายกลีบ เส้าเกสรสีเหลืองหรือสีขาวอมเหลือง กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. บริเวณโคนไม่มีสัน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสร ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอับเรณูสีเหลืองแกมสีน้ำตาล รูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ติดที่ฐาน ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๓-๐.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก มี ๓ ช่องแต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองอ่อน ยาว ๓-๔ มม. ปลายโค้งงอ ยอดเกสรเพศเมียกว้างกว่าก้านยอดเกสรเล็กน้อย ปลายตัด

 ผลแบบผลแห้งแตก สีเขียวเข้มเป็นมัน รูปทรงกระบอก กว้างและยาวประมาณ ๒ ซม. เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก

 ตานโมยชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกและภาคใต้ พบขึ้นตามที่ค่อนข้างชื้นและมีแสงน้อยในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานโมย ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Apostasia nuda R. Br.
ชื่อสกุล
Apostasia
คำระบุชนิด
nuda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1773-1858)
ชื่ออื่น ๆ
ตานขโมย (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส และ รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง